เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
อานนท์ เมื่อใด อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 ประการนี้ เรายังเข้าไม่ได้ ออกไม่ได้
ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมอย่างนี้ เมื่อนั้น เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา-
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
แต่เมื่อใด อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 ประการนี้ เราเข้าก็ได้ ออกก็ได้ ทั้งโดย
อนุโลมและปฏิโลมอย่างนี้ เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
อันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็แลญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ‘เจโตวิมุตติ
ของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
ตปุสสสูตรที่ 10 จบ
มหาวรรคที่ 4 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อนุปุพพวิหารสูตร 2. อนุปุพพวิหารสมาปัตติสูตร
3. นิพพานสุขสูตร 4. คาวีอุปมาสูตร
5. ฌานสูตร 6. อานันทสูตร
7. โลกายติกสูตร 8. เทวาสุรสังคามสูตร
9. นาคสูตร 10. ตปุสสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :532 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 5.สามัญญวรรค 1.สัมพาธสูตร
5. สามัญญวรรค
หมวดว่าด้วยสามัญญธรรม
1. สัมพาธสูตร
ว่าด้วยวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ1
[42] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นแล ท่านพระอุทายีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ สนทนาปราศรัยกับ
ท่านพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่าน
พระอานนท์ดังนี้ว่า “ผู้มีอายุ ปัญจาลจัณฑเทพบุตรได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
‘พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงหลีกเร้นอยู่
ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ ได้ตรัสรู้ฌานแล้ว
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระปัญญากว้างขวาง
ได้ทรงรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ’
ผู้มีอายุ ที่คับแคบ เป็นอย่างไร วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้อย่างไร”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุ กามคุณ 5 ประการนี้ พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ที่คับแคบ
กามคุณ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 34 (นิพพานสุขสูตร) หน้า 500 และดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 37 หน้า 513 ในเล่มนี้ และดู ที.ม.
10/288/183, ที.ม.อ. 2/288/255

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :533 }